วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก SIGNIS WORLD CONGRESS 2009 วันที่ 19 ตุลาคม 2552

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก
SIGNIS WORLD CONGRESS 2009
วันที่ 19 ตุลาคม 2552

การปรับเปลี่ยนของสื่อ การเปลี่ยนแปลงของสังคม:
พลังผลักดันเพื่อสันติ
โดย ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ซาแวส


ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ซาแวส เป็นนักวิชาการและนักวิจัยด้านสื่อสารมวลชน ผู้มีผลงานทางวิชาการมากกว่า 350 ผลงาน ในด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนา นโยบายการสื่อสาร พลวัตรการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อการพัฒนา สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ทั้งในรูปแบบหนังสือ ตำรา บทความทางวิชาการ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งศาตราจารย์และผู้อำนวยการสถาบัน Communication for Sustainable Social Change (CSSC) มหาวิทยาลัยแมสสาชูเสท สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ซาแวส ได้เริ่มต้นการบรรยายถึงทรรศนะของท่านว่า การสื่อสารนั้นมีบทบาทสำคัญและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน ท่านได้หยิบยกพระสมณสาส์นขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 “CARITAS IN VERITATE” มานำเสนอ เพื่อชี้ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการสื่อสารในกระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือ การบูรณาการการพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างครบครันบนพื้นฐานของเมตตาจิตและความจริง พระสันตะปาปาได้เรียกร้องให้บรรดาพระสงฆ์และผู้แพร่ธรรมใช้สื่อใหม่/สื่อดิจิทัลในงานแพร่ธรรม

จากพระสมณสาส์นนี้เอง ได้นำเสนอมุมมองที่ชัดเจนต่อพันธกิจของผู้แพร่ธรรมในการใช้สื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและศีลธรรมอันดีในสังคมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน พระศาสนจักรควรมีบทบาทนำในการสื่อสารศีลธรรมและจริยธรรมสู่สังคม โดยยึดหลักการคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกๆ มิติ

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน นำเสนอว่าสื่อได้มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีมาตลอด จากสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์ ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 50 สู่สื่อโทรทัศน์ในยุค 60-70 และต่อมาเป็นยุคการสื่อสารผ่านดาวเทียม ยุคปฏิรูประบบการรับส่งภาพวิดีทัศน์ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล และในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของอินเตอร์เน็ต

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน สรุปประเภทของการสื่อสารเพื่อการพัฒนา และการเปลี่บยนแปลงทางสังคมออกเป็น 5 ประเภทคือ
1. การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavioral Change Communication-BCC) ใช้วิธีการการสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นหลัก (Interpersonal Communication)
2. การสื่อสารมวลชน (Mass Communication-MC) โดยผ่านทางสื่อสารมวลชนและสื่อสารสนเทศ
3. การสื่อสารเพื่อการรณรงค์สนับสนุน (Advocacy Communication-AC) โดยผ่านทางการสื่อสารระหว่างบุคคล และ/หรือ การสื่อสารมวลชน
4. การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (Participatory Communication-PC) โดยผ่านทางการสื่อสารระหว่างบุคคและสื่อชุมชน
5. การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Communication for Structural and Sustainable Social Change-CSSC) โดยผ่านทางการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารชุมชน การสื่อสารมวลชน

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ได้สรุปว่าการดำเนินกิจการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องผสานการทำงานในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้เข้าด้วยกันคือ
- การพิจารณาถึงมิติย่อยๆ ทั้งหมดของโครงสร้างของสังคมนั้นๆ
- นโยบายของรัฐและระบบกฎหมาย
- ระบบการบริการสาธารณะ
- ระบบการศึกษา
- สถาบัน องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
- พื้นฐานทางวัฒนธรรม
- ข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์
- ระบบการเมือง
- ระบบเศรษฐกิจ
- ระบบภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

การบูรณาการมิติต่างๆดังที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นเป้าหมายของการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ Millennium Development Goals (MDG)

ศ.ดร. ยาน ได้นำเสนอวีดีทัศน์ซึ่งเป็นกรณีศึกษา จากงานวิจัยของภรรยาของท่าน ดร.พัชนี มาลีเกล้า เรื่อง “ยุทศาสตร์การป้องกันการแพร่เชื้อ HIV/AIDS ใน 2 ชุมชน:ตามวิถีพุทธและคริสต์” งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ทำการสำรวจถึงวิถีชีวิต ทัศนคติ และพฤติกรรมเสี่ยงของชาวชุมชน ชาย-หญิง (สามีและภรรยา) ต่อการติดเชื้อ HIV ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ผลการสำรวจพบว่าการปฏิบัติตามกรอบของศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันความเสี่ยงในเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ยังมีมิติทางสังคม วัฒนธรรม ค่านิยมจากตะวันตก การเปิดรับและใช้สื่อและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยหลักแทรกซ้อนเข้า เป็นตัวอย่างในการมองภาพปัญหาอย่างละเอียดในบริบทต่างๆ ซึ่งต้องนำมาพิจารณาเพื่อหามาตรการในการรณรงค์แก้ไขและมุ่งไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยื่นอีกด้วย

ศ.ดร.ยาน ได้นำผู้ร่วมสัมมนากลับมาสู่เนื้อหาสำคัญของพระสมณสาส์น “CARITAS IN VERITATE” ในนัยของการใช้การสื่อสารเพื่อกระบวนการสร้างสันติ โดยหยิบยกข้อความในสมณสาส์น “ความรุนแรงคือกระบวนการหยุดยั้ง และเป็นอุปสรรคขัดขวางวิวัฒนาการของมวลมนุษยชาติต่อการพัฒนาวิถีชีวิตฝ่ายจิต และความเจริญงอกงามของระบบสังคมและเศรษฐกิจ”
ศ.ดร.ยาน สรุปว่าการสื่อสารมวลชนสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนการพัฒนาใน 2 บริบทดังต่อไปนี้
(A) สื่อสารมวลชนมีบทบาทสำคัญต่อการแพร่กระจายข่าวสารสู่สาธารณะ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกันของคนในสังคมในโครงการรณรงค์เพื่อการพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(B) สื่อสารมวลชนเป็นสื่อกลางที่สำคัญ ที่บรรดาผู้วางแผนและกำหนดนโยบายสาธารณะ จะได้ใช้เป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ความคิดเห็นของมวลชน ประชามติ อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการตัดสินใจ และเพื่อใช้ในการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในงานพัฒนา

ศ. ดร. ยาน ได้แบ่งปันความเชื่อมโยงใน 3 มิติ กล่าวคือ ระดับปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับสังคม เพื่อสนับสนุนกระบวนการสื่อสารเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยงนั้นคือ
(A) กระบวนการการสนับสนุนหลักคือกระบวนการทางภาครัฐและการเมือง ต้องสนับสนุนให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ที่แท้จริงต่อสาธารณะ และการสร้างสรรค์สันติสุขในสังคม
(B) กระบวนการสนับสนุนทางสังคม ต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรในระบบสังคมให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยกันผลักดันการปฏิบัติที่จริงจังต่อการรณรงค์เพื่อการพัฒนาในบริบทต่างๆ และต้องสร้างให้ความร่วมมือดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นเป็น “บรรทัดฐานของสังคม”
(C) กระบวนการส่งเสริมปัจเจกบุคคลและชุมชน ให้มีความรู้และทักษะในการเป็นผู้นำนำการปฏิบัติการโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

หากจะกล่าวโดยสรุปแล้วนั้น ศ.ดร. ยาน ได้นำเสนอถึงกระบวนทัศน์หลักเพื่อนำการสื่อสารไปใช้ในการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใน 3 ประการหลัก ดังต่อไปนี้
1. สื่อมวลชน ต้องมีหน้าที่หลักในการสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อผลักดันวาระที่สำคัญต่อการพัฒนา และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ
2. กลุ่มประชาชน/ชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับผลประโยชน์สาธารณะในมิติต่างๆ ต้องสร้างระบบเครือข่ายความเข้าใจร่วมกัน และมีเป้าหมายในการสร้างพลังผลักดันทางสังคม คำว่า “เครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา” ครอบคลุมถึง ปัจเจกชน ผู้นำชุมชน กลุ่มทางการเมือง องค์กรสาธารณะ สถาบันวิชาชีพและวิชาการ ศาสนา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
3. เสียงสะท้อนความต้องการจากสาธารณะ ต้องมาจากพลังผลักดันของภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นเตือนและก่อให้เกิดการตอบสนองจากภาครัฐและผู้นำประเทศ

ในช่วงท้ายของการบรรยาย ศ.ดร. ยาน ได้นำเสนอวิดีทัศน์ เรื่อง “เป้าหมายแห่งการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค” ซึ่งเป็นภาพรวมของการพัฒนางานในโครงการของ UNESCAP และมีการแบ่งปันมุมมองของการสื่อสารเพื่อการพัฒนาจากวิทยากรรับเชิญในช่วงท้ายของการบรรยาย

1 ความคิดเห็น:

  1. จะมีแปลของวันที่ 20-21 ตุลาคม
    ด้วยหรือเปล่าครับ แล้วกลุ่มย่อยต่างๆ
    ติดตามเอกสารอยู่ครับ

    ขอบพระคุณมากครับ

    ตอบลบ