วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก SIGNIS WORLD CONGRESS 2009 วันที่ 19 ตุลาคม 2552

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก
SIGNIS WORLD CONGRESS 2009
วันที่ 19 ตุลาคม 2552

การปรับเปลี่ยนของสื่อ การเปลี่ยนแปลงของสังคม:
พลังผลักดันเพื่อสันติ
โดย ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ซาแวส


ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ซาแวส เป็นนักวิชาการและนักวิจัยด้านสื่อสารมวลชน ผู้มีผลงานทางวิชาการมากกว่า 350 ผลงาน ในด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนา นโยบายการสื่อสาร พลวัตรการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อการพัฒนา สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ทั้งในรูปแบบหนังสือ ตำรา บทความทางวิชาการ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งศาตราจารย์และผู้อำนวยการสถาบัน Communication for Sustainable Social Change (CSSC) มหาวิทยาลัยแมสสาชูเสท สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ซาแวส ได้เริ่มต้นการบรรยายถึงทรรศนะของท่านว่า การสื่อสารนั้นมีบทบาทสำคัญและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน ท่านได้หยิบยกพระสมณสาส์นขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 “CARITAS IN VERITATE” มานำเสนอ เพื่อชี้ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการสื่อสารในกระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือ การบูรณาการการพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างครบครันบนพื้นฐานของเมตตาจิตและความจริง พระสันตะปาปาได้เรียกร้องให้บรรดาพระสงฆ์และผู้แพร่ธรรมใช้สื่อใหม่/สื่อดิจิทัลในงานแพร่ธรรม

จากพระสมณสาส์นนี้เอง ได้นำเสนอมุมมองที่ชัดเจนต่อพันธกิจของผู้แพร่ธรรมในการใช้สื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและศีลธรรมอันดีในสังคมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน พระศาสนจักรควรมีบทบาทนำในการสื่อสารศีลธรรมและจริยธรรมสู่สังคม โดยยึดหลักการคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกๆ มิติ

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน นำเสนอว่าสื่อได้มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีมาตลอด จากสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์ ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 50 สู่สื่อโทรทัศน์ในยุค 60-70 และต่อมาเป็นยุคการสื่อสารผ่านดาวเทียม ยุคปฏิรูประบบการรับส่งภาพวิดีทัศน์ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล และในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของอินเตอร์เน็ต

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน สรุปประเภทของการสื่อสารเพื่อการพัฒนา และการเปลี่บยนแปลงทางสังคมออกเป็น 5 ประเภทคือ
1. การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavioral Change Communication-BCC) ใช้วิธีการการสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นหลัก (Interpersonal Communication)
2. การสื่อสารมวลชน (Mass Communication-MC) โดยผ่านทางสื่อสารมวลชนและสื่อสารสนเทศ
3. การสื่อสารเพื่อการรณรงค์สนับสนุน (Advocacy Communication-AC) โดยผ่านทางการสื่อสารระหว่างบุคคล และ/หรือ การสื่อสารมวลชน
4. การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (Participatory Communication-PC) โดยผ่านทางการสื่อสารระหว่างบุคคและสื่อชุมชน
5. การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Communication for Structural and Sustainable Social Change-CSSC) โดยผ่านทางการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารชุมชน การสื่อสารมวลชน

ศาสตราจารย์ ดร. ยาน ได้สรุปว่าการดำเนินกิจการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องผสานการทำงานในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้เข้าด้วยกันคือ
- การพิจารณาถึงมิติย่อยๆ ทั้งหมดของโครงสร้างของสังคมนั้นๆ
- นโยบายของรัฐและระบบกฎหมาย
- ระบบการบริการสาธารณะ
- ระบบการศึกษา
- สถาบัน องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
- พื้นฐานทางวัฒนธรรม
- ข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์
- ระบบการเมือง
- ระบบเศรษฐกิจ
- ระบบภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

การบูรณาการมิติต่างๆดังที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นเป้าหมายของการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ Millennium Development Goals (MDG)

ศ.ดร. ยาน ได้นำเสนอวีดีทัศน์ซึ่งเป็นกรณีศึกษา จากงานวิจัยของภรรยาของท่าน ดร.พัชนี มาลีเกล้า เรื่อง “ยุทศาสตร์การป้องกันการแพร่เชื้อ HIV/AIDS ใน 2 ชุมชน:ตามวิถีพุทธและคริสต์” งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ทำการสำรวจถึงวิถีชีวิต ทัศนคติ และพฤติกรรมเสี่ยงของชาวชุมชน ชาย-หญิง (สามีและภรรยา) ต่อการติดเชื้อ HIV ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ผลการสำรวจพบว่าการปฏิบัติตามกรอบของศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันความเสี่ยงในเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ยังมีมิติทางสังคม วัฒนธรรม ค่านิยมจากตะวันตก การเปิดรับและใช้สื่อและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยหลักแทรกซ้อนเข้า เป็นตัวอย่างในการมองภาพปัญหาอย่างละเอียดในบริบทต่างๆ ซึ่งต้องนำมาพิจารณาเพื่อหามาตรการในการรณรงค์แก้ไขและมุ่งไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยื่นอีกด้วย

ศ.ดร.ยาน ได้นำผู้ร่วมสัมมนากลับมาสู่เนื้อหาสำคัญของพระสมณสาส์น “CARITAS IN VERITATE” ในนัยของการใช้การสื่อสารเพื่อกระบวนการสร้างสันติ โดยหยิบยกข้อความในสมณสาส์น “ความรุนแรงคือกระบวนการหยุดยั้ง และเป็นอุปสรรคขัดขวางวิวัฒนาการของมวลมนุษยชาติต่อการพัฒนาวิถีชีวิตฝ่ายจิต และความเจริญงอกงามของระบบสังคมและเศรษฐกิจ”
ศ.ดร.ยาน สรุปว่าการสื่อสารมวลชนสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนการพัฒนาใน 2 บริบทดังต่อไปนี้
(A) สื่อสารมวลชนมีบทบาทสำคัญต่อการแพร่กระจายข่าวสารสู่สาธารณะ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกันของคนในสังคมในโครงการรณรงค์เพื่อการพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(B) สื่อสารมวลชนเป็นสื่อกลางที่สำคัญ ที่บรรดาผู้วางแผนและกำหนดนโยบายสาธารณะ จะได้ใช้เป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ความคิดเห็นของมวลชน ประชามติ อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการตัดสินใจ และเพื่อใช้ในการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในงานพัฒนา

ศ. ดร. ยาน ได้แบ่งปันความเชื่อมโยงใน 3 มิติ กล่าวคือ ระดับปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับสังคม เพื่อสนับสนุนกระบวนการสื่อสารเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยงนั้นคือ
(A) กระบวนการการสนับสนุนหลักคือกระบวนการทางภาครัฐและการเมือง ต้องสนับสนุนให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ที่แท้จริงต่อสาธารณะ และการสร้างสรรค์สันติสุขในสังคม
(B) กระบวนการสนับสนุนทางสังคม ต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรในระบบสังคมให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยกันผลักดันการปฏิบัติที่จริงจังต่อการรณรงค์เพื่อการพัฒนาในบริบทต่างๆ และต้องสร้างให้ความร่วมมือดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นเป็น “บรรทัดฐานของสังคม”
(C) กระบวนการส่งเสริมปัจเจกบุคคลและชุมชน ให้มีความรู้และทักษะในการเป็นผู้นำนำการปฏิบัติการโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

หากจะกล่าวโดยสรุปแล้วนั้น ศ.ดร. ยาน ได้นำเสนอถึงกระบวนทัศน์หลักเพื่อนำการสื่อสารไปใช้ในการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใน 3 ประการหลัก ดังต่อไปนี้
1. สื่อมวลชน ต้องมีหน้าที่หลักในการสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อผลักดันวาระที่สำคัญต่อการพัฒนา และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ
2. กลุ่มประชาชน/ชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับผลประโยชน์สาธารณะในมิติต่างๆ ต้องสร้างระบบเครือข่ายความเข้าใจร่วมกัน และมีเป้าหมายในการสร้างพลังผลักดันทางสังคม คำว่า “เครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา” ครอบคลุมถึง ปัจเจกชน ผู้นำชุมชน กลุ่มทางการเมือง องค์กรสาธารณะ สถาบันวิชาชีพและวิชาการ ศาสนา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
3. เสียงสะท้อนความต้องการจากสาธารณะ ต้องมาจากพลังผลักดันของภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นเตือนและก่อให้เกิดการตอบสนองจากภาครัฐและผู้นำประเทศ

ในช่วงท้ายของการบรรยาย ศ.ดร. ยาน ได้นำเสนอวิดีทัศน์ เรื่อง “เป้าหมายแห่งการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค” ซึ่งเป็นภาพรวมของการพัฒนางานในโครงการของ UNESCAP และมีการแบ่งปันมุมมองของการสื่อสารเพื่อการพัฒนาจากวิทยากรรับเชิญในช่วงท้ายของการบรรยาย

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก SIGNIS WORLD CONGRESS 18 October 2009

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก SIGNIS WORLD CONGRESS

วันที่ 18 ตุลาคม 2552

Keynote Speaker: Dr. Zilda Arns Neumann & Professor Jose De Mesa

“สิทธิมนุษยชน – สิทธิเด็ก”

โดย ดร.ซิลดา อาร์น นอยมานน์

ดร.ซิลดา เป็นผู้ก่อตั้งและประสานงาน Children’s Pastoral Action ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งบราซิล CPAได้มีส่วนช่วยเหลือเด็กๆจำนวนถึง 1,816,261 คน ในแหล่งชุมชนที่ยากไร้ทั่วบราซิล ซึ่งรวมถึงสตรีมีครรภ์จำนวนถึง 94,987 คน จาก 1,407,743 ครัวเรือน

ดร.ซิลดา ได้เริ่มการบรรยายโดยเน้นว่า พวกเราทุกคน ณ ที่นี้ ได้รับกระแสเรียกในการร่วมกันประกาศข่าวดีจากองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยหน้าที่ของเราต้องมีส่วนร่วมมือกันทำให้ข่าวดีเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยผ่านการกระทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในสังคม กระบวนการสร้างสันติเริ่มต้นขึ้นในจิตใจโดยอาศัยพื้นฐานแห่งความรัก ซึ่งจะเริ่มก่อตัวขึ้นและหยั่งรากฐานในครรภ์มารดาและเริ่มต้นพัฒนาขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย โดยที่การสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งย่อมก่อให้เกิดภราดรภาพในสังคมในที่สุด

และหากเราเริ่มต้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรตั้งแต่ในครรภ์มารดา นั่นหมายความว่าเด็กๆก็จะได้รับการดูแลอย่างดีและได้รับการปลูกเพาะเมล็ดพันธ์แห่งสันติและความหวังต่อไป เด็กๆคือความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์แบบ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ดั่งที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย” (มธ.18: 3) และ “แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเด็กเล็กๆเหล่านั้นเข้ามาตรัสว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆมาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เป็นเหมือนเด็กเล็กเหล่านี้”” (ลก.18: 16)

การเริ่มต้นของ CPA เกิดขึ้นเมื่อ 26 ปีที่แล้ว งานของ CPA นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่ใช้การสื่อสารภาคสังคมช่วยงานการพัฒนาสิทธิเด็กและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

งานของ CPA ได้รับการปลูกฝังเมล็ดพันธ์แห่งความรัก ณ เมือง Florestopolis ในรัฐ Parana ซึ่งโครงการของ CPA ได้ช่วยชุมชนยากจนถึง 42,000 ชุมชน ในเขตงานอภิบาล 7,000 แห่ง เครือข่ายการทำงานของ CPA ที่มีอยู่ทั่วบราซิลนั้นบุคลากรส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งมีจำนวนถึง 260,000 คน โดยที่ร้อย 92% เป็นสตรี เฉลี่ยแล้วอาสาสมัครแต่ละคนอุทิศเวลาประมาณ 24 ชม.ต่อสัปดาห์ ช่วยกันให้ความรู้กับแม่และสมาชิกในครอบครัวผู้ยากไร้ วัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาของโครงการ CPA คือ (1) มุ่งให้ความรู้แก่มารดาและสมาชิกในครอบครัวผู้ยากไร้ เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตของทารกและสภาวะการขาดสุขลักษณะ ความพิการและสภาวะการขาดสารอาหารในเด็ก (2) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแบบองค์รวมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปี

ดร.ซิลดาได้เน้นว่า ช่วงเยาว์วัยเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝังคุณค่าชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ การสร้างประชากรที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชีวิตต่อไป

การเริ่มงานในช่วงแรกของ CPA ดร.ซิลดา ทำงานด้วยความยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ซิลดาเชื่อมั่นและศรัทธาว่า สิ่งที่เธอทำ คือ แผนงานที่พระเป็นเจ้าได้ทรงเตรียมไว้ ดร.ซิลดา ทำงานในระบบสาธารณสุข มีประสบการณ์ทางการแพทย์และสุขอนามัยเป็นระยะเวลานาน สิ่งเหล่านี้เองจึงเป็นพื้นฐานช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ด้วยความร้อนรนและกระตือรือร้น ดร.ซิลดา ได้เริ่มต้นการทำงานโดยตั้งคำถามถึง “วิธีการที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กๆในประเทศได้อย่างไร?”

ปัญหาที่สำคัญของประชาชนในชุมชนผู้ยากไร้ คือ การขาดความรู้และความเข้าใจเรื่อง สุขอนามัย ปัญหาทางโภชนศาสตร์ การขาดความรู้ถึงการรับประทานอาหารให้มีประโยชน์ เพื่อบำรุงทารกในครรภ์ และปัญหาการขาดสารอาหาร เป็นต้น

ดร.ซิลดา ได้นำเรื่องการเลี้ยงอาหารแก่ประชาชนผู้เฝ้าฟังพระเยซูคริสต์เทศนาเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจในการทำงาน ดร.ซิลดา มักรำพึงกับตัวเองเสมอว่า “สาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กๆจำนวนนับล้านในแต่ละปีเกิดจากสาเหตุง่ายๆ และเป็นสิ่งที่น่าจะสามารถป้องกันได้” และ “เพราะอะไรเด็กๆจึงกลายเป็นบุคคลที่ก้าวร้าวรุนแรง หรือกลายเป็นอาชญากรในที่สุดเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น?

สภาพความแร้นแค้นและทุกข์ระทมของชุมชนยากจนในบราซิลนั้น สามารถเห็นเป็นภาพสะท้อนได้ในทุกๆวัน อาทิ การที่แม่หยุดการให้นมตามะรรมชาติ และใช้นมผงชงด้วยน้ำที่ไม่ค่อยสะอาดนัก ทารกไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้านสุขภาพอนามัยและโภชนาการ ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เด็กๆ ถูกทำร้ายทุบตีจากผู้เป็นพ่อแม่ และจากการวิจัยสำรวจขององค์กร WHO ในปี ค.ศ. 1994 พบว่า “เด็กๆ ที่เริ่มต้นถูกทำร้ายตั้งแต่ขวบปีแรกของชีวิต มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่ก้าวร้าวรุนแรง และก้าวสู่การเป็นอาชญากรในที่สุด”

ดร.ซิลดา ได้นำเสนอวิธีการที่ CPA ได้ทำตลอด 25 ปี และนำเสนอวิธีการนี้ต่อพระศาสนจักรท้องถิ่นเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวคือ วิธีการที่เธอประยุกต์จากวิธีการที่พระเยซูได้ทรงเลือกใช้ในการประกาศพระวรสารเมื่อ 2000 กว่าปีก่อน นั่นคือ (1) การรวบรวมและจัดระบบประชาชนในชุมชนต่างๆ (2) การหาข้อมูลและตรวจสอบจำนวนและรายชื่อครอบครัวที่มีสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก

สำหรับผู้นำชุมชนนั้น โครงการ CPA ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมในความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขอนามัย โภชนาการ สาธารณสุขเบื้องต้น และนอกจากนี้การอบรมจิตตาภิบาลก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการทำงานในโครงการดังกล่าวนี้ด้วย ดังนั้นผู้นำชุมชนจึงเป็นผู้ให้ความรู้และช่วยเผยแพร่จิตตารมณ์ทางด้านความรักและประสานงานกับครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวที่สำคัญ

ภายหลังจากการประยุกต์ใช้วิธีการตามแบบฉบับขององค์พระคริสตเจ้า ปัจจุบัน CPA ได้ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงประชาชน ใน 40,000 ชุมชน และเขตงานอภิบาลถึง 7,000 แห่ง จากสังฆมณฑลทั้งสิ้น 272 เขต โดยเป็นไปทีละเล็กละน้อย แนวทางการทำงานด้วยวิธีนี้ได้เผยแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ ถึง 19 ประเทศ

CPA ได้พัฒนายุทธศาสตร์ในการดำเนินงานการสื่อสารเพื่อพัฒนาชุมชน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) ระดับปัจเจกบุคคล (2) ระดับชุมชน และ (3) ระดับกลุ่มมวลชน CPA ใช้วิธีการสื่อสารให้ความรู้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเพื่อส่งข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อจูงใจ และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

ในภาคการสื่อสารระดับปัจเจกบุคคล CPA ได้ดำเนินการในกิจกรรมการเยี่ยมบ้านในชุมชนต่างๆ ที่มีสตรีมีครรภ์และเด็กๆ ตลอดพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำอเมซอน

ดร.ซิลดา ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติจัดทำโครงการ “ชีวิตที่ปราศจากความรุนแรง” CPA ได้กำหนดคำขวัญของโครงการว่า “สันติสุขเริ่มต้นที่บ้าน” โครงการได้ผลิตสื่อแผ่นพับเพื่อรณรงค์โครงการดังกล่าว แจกจ่ายไปถึงจำนวน 6,000,000 ชุด แผ่นพับดังกล่าวคือ “บัญญัติ 10 ประการเพื่อการสร้างสันติในครอบครัว” อีกทั้งยังมีกิจกรรมสัมมนาในโรงเรียนและชุมชนจากเหนือจรดใต้ของประเทศบราซิล

การให้การศึกษาและการสื่อสารในระดับกลุ่มชุมชน CPA ได้จัดกิจกรรมขึ้นในทุกๆ เดือน ให้กับชุมชนจำนวนนับพันแห่ง ชื่อโครงการคือ “วันเฉลิมฉลองคุณค่าของชีวิต” กิจกรรมในวันดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชีวิตฝ่ายจิตศรัทธาและมิตรภาพระหว่างครอบครัวในชุมชน การจัดงานประกอบด้วยกิจกรรมให้ความรู้แก่แม่และเด็กตลอดจนกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งเป็นโอกาสที่บรรดาแม่ๆ ได้ร่วมแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน อาทิ การประกอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในราคาย่อมเยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประชุมประจำเดือนเพื่อการติดตาม และประเมินผลการทำงานของบรรดาผู้นำชุมชนอีกด้วย

การทำงานของ CPA บรรลุความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในที่สุด CPA สามารถควบคุมสภาวะการขาดสมดุลของโภชนาการได้ จากอัตราสภาวะปัญหาทางโภชนาการที่เคยมีสูงถึงร้อยละ 50% ในช่วงเวลาเริ่มต้นโครงการ อัตราดังกล่าวลดลงมาสู่ร้อยละ 3.1% ในปัจจุบัน และอัตราการเสียชีวิตของทารกลดน้อยลงอย่างมาก ลดเหลือเพียงอัตราส่วน 13:1,000 ในเขตพื้นที่ชุมชนที่ CPA ได้นำโครงการช่วยเหลือไปปฏิบัติการ ในปัจจุบันโครงการของ CPA ได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงสาธารณสุข บราซิล, UNICEF, ธนาคาร HSBC และองค์กรภาคธุรกิจอื่นๆ โครงการจึงสามารถทำโครงการการฝึกอบรมสุขอนามัย โภชนาการ การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพประชากรได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ดร.ซิลดาได้บูรณาการการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อพัฒนาสิทธิเด็กดังต่อไปนี้

1. การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ แผ่นพับ โปสเตอร์ ฯลฯ

2. การใช้สื่อวิทยุ อาทิ การจัดรายการเพื่อให้ความรู้

3. โครงการรณรงค์ในหัวข้อต่างๆ และการใช้สื่อวีดีทัศน์ในโครงการ

ดร.ซิลดาได้นำเสนอแนวคิด ในการนำแนวคิดการพัฒนาคุณค่าทางด้านจิตใจเข้าสู่ทุกในทุกมิติใน กระบวนการของการพัฒนา การพัฒนาชุมชน สังคม และประชากร กล่าวคือ การพัฒนาแบบบูรณาการนั้นต้องประกอบด้วย “การพัฒนาทางกาย สุขภาพ การพัฒนาทางสังคม การพัฒนาจากจิต การพัฒนาทางจิตวิญญาณ”

ดร.ซิลดา เชื่อมั่นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับการแสวงหาวิธีการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของสังคม การกำจัดการคอรัปชั่น การส่งเสริมความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม อัตราการเข้าถึงของประชากรในระบบบริการสาธารณสุข และคุณภาพของระบบการศึกษา การส่งเสริมให้มีการประสานงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศต่างๆ และการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม

ดังที่ได้บัญญัติไว้ในพระสมณสาส์น “CARITAS IN VERITATE” ขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 “ธรรมชาติและสรรพสิ่งสร้างคือของขวัญล้ำค่าจากพระเจ้า จงใช้ด้วยความรับผิดชอบ โลกได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยสัญญาณของภาวะโลกร้อน เรากำลังได้รับการตักเตือนจากภัยธรรมชาติที่ทวีจำนวนและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจระดับโลก แสดงให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เรียกร้องภราดรภาพจากนานาชาติ ความเป็นพี่น้อง เพื่อสรรสร้างความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขของสากลโลก

“เทววิทยาแห่งการสื่อสาร”

โดย ศาสตราจารย์ โฮเซ่ เดอ เมซ่า

ศาสตราจารย์ โฮเซ่ เดอ เมซ่า ได้เปิดประเด็นการบรรยายในหัวข้อ “เทววิทยาแห่งการสื่อสาร” โดยสรุปประวัติศาสตร์ในช่วงการเริ่มต้นปฏิรูปกิจการในบริบทต่างๆของพระศาสนจักรคาทอลิกระหว่างปี ค.ศ.1962 – 1965 ซึ่งได้มีการจัดสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ศาสตราจารย์ โฮเซ่ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ กิจการการสื่อสารของพระศาสนจักรนั้น “มีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างพระศาสนจักรกับอาณาจักร (โลก)”

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 12 พระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ได้รับการสถาปนาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งสันตบิดร พระองค์เองเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแต่งตั้ง Ecumenical Council ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นสมณกระทรวงในที่สุด

พระสมณสาส์นที่สำคัญที่ ศาสตราจารย์ โฮเซ่ แนะนำให้ศึกษาซึ่งครอบคลุมแกนหลักของเทววิทยาและปรัชญาทางด้านการสื่อสารของพระศาสนจักร มีดังต่อไปนี้ คือ (1) Gaudium et Spes, (2) Lumen Gentium, (3) Sacrosanctum Concilium, (4) Dei Verbum

จากสภาพการณ์ที่ศาสตราจารย์ โฮเซ่ ระบุว่า “มีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างพระศาสนจักรกับอาณาจักร(โลก)” พระศาสนจักรจึงมีความจำเป็นในการอ่านและตีความสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาให้ละเอียดและถูกต้องเพื่อที่จะแสวงหาหนทาง วิธีการประกาศพระวาจาขององค์พระคริสตเจ้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อที่จะแสวงหาหนทางที่พระศาสนจักรและอาณาจักรสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้อีกครั้ง

คำศัพท์หลัก 2 คำที่สำคัญ คำหนึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน อีกคำหนึ่งเป็นภาษาลาตินที่สามารถอธิบายแนวคิดปรัชญาหลักของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 นั่นคือ Aggiornamento การต่ออายุหรือการปรับสู่สิ่งใหม่ กับคำว่า Ad Fontes คือ การกลับไปสู่แหล่งกำเนิดหรือพื้นฐานของทั้งหมด

การปรับปรุงสู่สิ่งใหม่ของมิติทางด้านการสื่อสารนั้นจะช่วยให้พระศาสนจักร สามารถสื่อสารประกาศพระวาจาของพระคริสตเจ้าได้มีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้พระศาสนจักรสามารถปรับตัวให้ทันสมัย สามารถตอบและสื่อต่อประเด็นคำถามต่างๆในสังคมปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที

การกลับไปสู่แหล่งกำเนิดหรือแก่นกลางของทั้งหมด จะช่วยทำให้พระศาสนจักรสามารถสื่อสารข่าวสารออกไปได้อย่างมั่นคงตามเจตนารมณ์ของพระวรสาร ศาสตราจารย์ โฮเซ่ นำเสนอว่า พระศาสนจักรควรมีการทบทวนและตรวจสอบในลักษณะทบทวนกลับไปมา ถึงต้นตอแหล่งความเชื่อ(หัวใจหลัก)ในพระวรสารอยู่เสมอ กระบวนทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือน กีฬาปิงปองที่มีการเปลี่ยนถ่ายกลับไปกลับมาเสมอ หรือที่ ศาสตราจารย์ โฮเซ่ นิยามว่า “ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยการกลับมาทบทวนถึงจุดกำเนิดหรือหัวใจอยู่เสมอ” (“Moving Forward” by Moving Back”)

พระสมณสาส์นที่สำคัญที่ศาสตราจารย์ โฮเซ่ อ้างอิงถึง คือพระสมณสาส์น Dei Verbum ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับกิจการด้านสื่อสารของพระศาสนจักร เฉกเช่นพระสมณสาส์น Inter Mirifica (เครื่องมือแห่งสื่อสารมวลชน) แต่พระสมณสาส์น Dei Verbum ได้ฉายภาพถึงแก่นกลางทางด้านเทววิทยาแห่งการสื่อสารเอาไว้

ใน Dei Verbum ได้สะท้อนเทววิทยาแห่งการสื่อสารไว้กล่าวโดยสรุปคือ พระเยซูคริสตเจ้าคือศูนย์กลาง พระวาจาของพระคริสต์คือเนื้อหาใจความหลักของการสื่อสารของพระศาสนจักร พระวาจาของพระองค์ คือแรงบันดาลใจและแบบฉบับของกิจการสื่อสารของพระศาสนจักร

พระเป็นเจ้าได้สื่อตัวพระองคืเองผ่านองค์พระคริสต์ ในบริบทดังนี้ (1) พื้นฐานความเชื่อและความรัก อ้าง “จงมีความรักเถิดเพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยน. 4:19), (2) แรงบันดาลใจและพลังผลักดันกิจการของพระศาสนจักร “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน. 3:16) , (3) แบบฉบับวิถีการปฏิบัติ “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลายให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน. 13:34 )

ศาสตราจารย์ โฮเซ่ เน้นว่า “องค์พระคริสตเจ้า คือ ศูนย์กลางที่สำคัญของคริสตศาสนา หากไร้ซึ่งองค์พระเยซูย่อมไม่มีคริสตศาสนา” สิ่งที่พระคริสต์ตรัสคือ สิ่งที่พระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะสื่อสารกับมนุษย์

ในสถานะผู้สื่อสารความเชื่อเราควรพิจารณาต่อประเด็นทางเทววิทยา ดังต่อไปนี้

(1) อะไรเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าต้องการสื่อสารถึงเรา

(2) วัตถุประสงค์เป้าหมายที่พระองค์ต้องการสื่อสารกับมนุษย์

(3) มิติด้านเวลาที่พระองค์สื่อสาร

(4) มิติด้านสถานที่/ช่องทางที่พระองค์สื่อสาร

(5) วิธีการที่พระองค์เลือกสรรที่จะสื่อสารกับมนุษยชาติ

พระวาจาที่สื่อผ่านองค์พระคริสตเจ้าบ่งบอกชัดเจนถึงความสัมพันธ์ในมิติแห่งการสื่อสารระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษยชาติ

คำตอบของคำถามเบื้องต้นสามารถจำแนกออกเป็นข้อดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ (1) สิ่งที่พระเป็นเจ้าต้องการสื่อสารกับเรา คือ “ชีวิตและความรัก” “เกี่ยวกับพระองค์”

ประเด็นที่ (2) เป้าหมายหลักคือ การสื่อถึง “ความรักที่ปราศจากเงื่อนไข” และ “พันธกิจศักดิ์สิทธิ์” ที่เกี่ยวข้องกับมวลมนุษยชาติ

ประเด็นที่(3) พระองค์สื่อสารกับมนุษย์อยู่ตลอดเวลา

ประเด็นที่(4) ช่องทางที่พระองค์สื่อสาร คือ ผ่านทางประวัติศาสตร์และผ่านทางประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนในทุกๆวัน

ประเด็นที่(5) วิธีการที่พระองค์เลือกสรรในการสื่อสารคือ ผ่านหนทางแห่งวิถีชีวิตและความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์

สารจากของพระอัครสังฆราช Claudio Maria Celli,

สารจากของพระอัครสังฆราช Claudio Maria Celli,

ประธานสมณสภาสื่อสารมวลชน แห่งสันตะสำนักถึงผู้เข้าร่วมประชุม

พระอัครสังฆราช Claudio Maria Celli, ประธานสมณสภาสื่อสารมวลชน แห่งสันตะสำนัก ส่งสารถึงผู้เข้าร่วมประชุมทางวีดีโอ ซึ่งถอดความได้ดังนี้

พระอัครสังฆราชเคลาดิโอ เชลลี ประธานสมณสภาสื่อสารมวลชนแห่งสันตะสำนัก กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านทางวิดีทัศน์ ความว่า “แนวคิดหลักของการประชุมในครั้งนี้เป็นหัวข้อที่ทันสมัยและมีความสำคัญยิ่ง นัยความสำคัญของหัวข้อการประชุมสามารถจำแนกออกเป็น 2 บริบทหลักคือ การปกป้อง และการส่งเสริมศักยภาพของเด็กๆ ซึ่งเป็นหลักการที่จำเป็นยิ่งในการสร้างประชากรที่ดีมีคุณภาพในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะคริสตชนต้องตระหนักให้ได้ว่า นี่คือภารกิจความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เด็กๆ คือสมาชิกมีค่าและสำคัญที่สุดของสังคม ดังนั้นเราคริสตชนจึงมีพันธกิจทางจริยธรรมในการเสริมสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า เด็กๆ ของเราจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากภยันตรายทั้งปวง ทั้งนี้สันติสุขของมวลมนุษยชาติย่อมผูกพัน และตั้งอยู่บนหลักการขั้นพื้นฐานแห่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการปกป้องผู้ที่อ่อนแอที่สุด

ในสารขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 โอกาสวันสันติภาพสากลในปีนี้ พระองค์ได้ทรงเน้นความสำคัญของการปกป้องสวัสดิภาพและสิทธิของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการเผชิญหน้ากับปัญหาความยากจนอันส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก พระองค์ทรงเขียนไว้ว่า เมื่อความยากจนยากไร้เข้าสู่ครอบครัว เด็กๆ จะกลายเป็นเหยื่อของความยากลำบาก กล่าวคือเด็กๆ นับเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีชิวิตอยู่ท่ามกลางความยากแค้นในโลกปัจจุบันและเมื่อครอบครัวในปัจจุบันอ่อนแอตกอยู่ในสภาวะยากแค้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กๆ จะเป็นผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ระทมนั้น และหากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของสตรีและผู้ที่มีบทบาทเป็นแม่ไม่ได้รับการปกป้อง นั่นหมายถึงว่าเด็กๆ จะตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงในที่สุดความจริงแท้ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติสุขนั้นย่อมขึ้นอยู่การต่อสู้และบรรเทาอุปสรรคแห่งความยากจนที่มีผลต่อการลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่มีผลกระทบส่วนมากต่อเด็กๆ ในสังคม

สิ่งที่ชัดเจนยิ่งในสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ นั่นคือเราในฐานะผู้สื่อสารคาทอลิกเราจะมีทีท่าและเผชิญหน้ากับปัญหานี้เช่นไร ดังนั้นในโอกาสนี้ข้าพเจ้าจะขอแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบถึงวัตถุประสงค์หลักของการประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกในครั้งนี้ว่า การประชุมมีเป้าหมายหลักดังนี้

(1) เพื่อสถาปนากระบวนการการปกป้องสิทธิของเด็กให้เป็นวาระสำคัญโดยสื่อ ผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติ

(2) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของนักสื่อสารคาทอลิกในการปฎิบัติพันธกิจ เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิเด็ก

(3) เพื่อร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติงานในด้านสิทธิเด็ก

(4) เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานร่วมกันในงานด้านสื่อสารและสิทธิเด็ก

และอาศัยการสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล เพื่อนร่วมวิชาชีพ และสื่อผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลายในระหว่างการประชุม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญโดยปราศจากข้อสงสัย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการทำงานในฐานะสื่อมวลชน และในสถานะสมาชิกขององค์กรสื่อสารคาทอลิกสากล

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ นั่นคือ การมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะงานด้านสื่อศึกษา เพื่อเสริมพลังในการผลักดันให้เด็กๆ สามารถมีวิจารณญาณในการใช้สื่อและในที่สุดคือการมุ่งเสริมสำนึกความรับผิดชอบในการเป็นผู้ผลิตสารที่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ในกระบวนการการเตรียมความพร้อมผู้นำของสังคมในอนาคตเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติสุข ต้องมุ่งเน้นความสำคัญในการปลูกฝังจริยธรรมตามหลักคริสตศาสนา ต้องมุ่งเสริมสร้างปรัชญาและคุณค่าของจิตใจให้เป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ไตร่ตรองและพิจารณาทบทวนถึงสาส์นขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 เนื่องในวันสื่อมวลชนสากล ค.ศ. 2007 ซึ่งมีแนวคิดหลักในปีนั้นว่า เด็กกับสื่อสารมวลชน สิ่งท้าทายสำหรับการศึกษาในสาส์นดังกล่าว องค์สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพิจารณาถึงการปลูกฝังเด็กๆ และวิธีการปฏิสัมพันธ์กับสื่อ

พระองค์ท่านได้บันทึกในสาส์นว่า สิ่งที่ท้าทายการศึกษาในปัจจุบันบ่อยครั้งที่ผูกพันและเป็นผลจากอิทธิพลและแรงจูงใจของสื่อ และเมื่อพิจารณาในปรากฎการณ์สากลในยุคโลกาภิวัตน์ และในโลกแห่งความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยี สื่อคือผู้กำหนดวัฒนธรรม และในบางครั้งเองมีผู้คนจำนวนหนึ่งกล่าวว่าในบางบริบทอิทธิพลของสื่อเองก็ส่งผลร้ายต่อสถาบันการศึกษา พระศาสนจักร และแม้กระทั่งสถาบันครอบครัวอีกด้วยจนบางครั้ง ความเป็นจริง (สำหรับคนหลายคน) คือสิ่งที่สื่อแจ้งให้ทราบว่าเป็นความจริง องค์สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงแนะว่าให้เราพิจารณาประเด็นปัญหาในสองมิติ กล่าวคือ การปลูกฝังเด็กๆ โดยสื่อมวลชน และการปลูกฝังเด็กๆ ให้ปฏิสัมพันธ์กับสื่อได้อย่างเหมาะสม การเสริมสร้างสิ่งนี้แน่นอนขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบทางสังคมของอุตสาหกรรมการผลิตสื่อ ผู้ผลิตสื่อ และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้รับสื่อ กรอบการเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งคือการฝึกอบรมวิธีการเลือกเปิดรับและใช้สื่ออย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กๆ ในด้านวัฒนธรรม จริยธรรมและคุณค่าทางด้านจิตวิญญาณของผู้รับสารซึ่งเป็นผู้เยาว์

และในท้ายที่สุดข้าพเจ้าขอขอบคุณผู้จัดงานและผู้ร่วมประชุมทุกท่านในการร่วมจัดกิจกรรมที่หลากหลายอันเกี่ยวข้องกับเด็ก เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากเขาและเรียนรู้จากเสียงสะท้อนและตัวตนของเขา เพราะพวกเด็กๆ เหล่านี้คือผู้ตอบรับการใช้สื่อสมัยใหม่เป็นกลุ่มแรก เป็นผู้ใช้ พัฒนา และปฏิสัมพันธ์นวัตกรรมสื่อใหม่ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้สอนผู้ใหญ่ถึงวิธีการใช้นวัตกรรมเหล่านี้เสียอีกด้วย ในขณะที่ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะคาดหวังว่าเด็กคือ อนาคต เราควรเพิ่มเติมมุมมองใหม่สำหรับเด็กด้วยว่า เขาคือผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้นำในโลกปัจจุบันอีกด้วย

สาส์นขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเนื่องในวันสื่อมวลชนสากลในปีนี้ พระองค์ทรงเรียกร้องและสนับสนุนให้บรรดาเยาวชนคาทอลิกเป็นประจักษ์พยานและผู้สื่อสารความเชื่อผ่านสื่อในโลกยุคใหม่ ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ท่านได้มีบทบาทในการเป็นผู้นำทางด้านคุณค่า การสร้างสรรค์จรรโลงชีวิต ในวัฒนธรรมและสภาวะสังคมในโลกยุคใหม่ โลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสาร ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำในการประกาศพระวาจาในโลกดิจิตอลนั้นเป็นหน้าที่ของเยาวชนเช่นท่านทั้งหลาย จงสร้างความเชื่อมั่นในการประกาศพระวรสารสู่เพื่อนผู้ร่วมสมัยของท่านด้วยจิตใจที่ร้อนรน”

บทกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม โดย อาจารย์ ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย

บทกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม

โดย

อาจารย์ ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย

ประธานจัดการประชุม SIGNIS WORLD CONGRESS

วันที่ 18 ตุลาคม 2552

ในโอกาสนี้ อาจารย์ ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานการจัดการประชุม SIGNIS World Congress 2009 ได้สรุปจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม SIGNIS World Congress ในครั้งนี้ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 569 ท่าน จาก 69 ประเทศทั่วโลก ในการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญกับ SIGNIS เนื่องจาก ในปี 2009 เป็นการเฉลิมฉลอง 80 ปีของการก่อตั้งองค์กร และ อ.ชัยณรงค์ ได้ยกตัวอย่างคำตอบของ โยฮัน ครัฟ นักฟุตบอลชื่อดังของฮอลแลนด์ ในอดีต เมื่อเขาถูกถามว่า มีวิธีการอย่างไรที่ทำให้เขาเป็นนักฟุตบอลที่เก่งกาจและยอดเยี่ยม ซึ่ง โยฮัน ครัฟ ตอบว่า “ผมวิ่งมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางเป้าหมายที่ลูกฟุตบอลจะถูกส่งไป ผมไม่ได้อยู่ในที่ที่ลูกฟุตบอลอยู่” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับการประชุมในครั้งนี้ “พวกเรากำลังมุ่งไปสู่อนาคตที่กำลังจะเป็นไป กล่าวคือ มุ่งไปสู่อนาคต คือ “เด็กๆ” คือ อนาคตของเรา”

ภายใต้หัวข้อ “สื่อมวลชนเพื่อวัฒนธรรมแห่งสันติสุข: สิทธิของเด็กและเยาวชนผู้เป็นอนาคต” ในการประชุมครั้งนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวน 100 คน จากโรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จะร่วมกันมีบทบาทสำคัญในการประชุมในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าวเยาวชน ซึ่งเป็นผู้แทนเยาวชนจากประเทศต่างๆ ร่วมกันผลิตสื่อและนำเสนอผลงานของเขาต่อไป

อ.ชัยณรงค์ ได้กล่าวเชิญชวนให้ผู้ร่วมสัมมนาทุกท่านได้ร่วมมือกันแบ่งปันความรู้ ทักษะและประสบการณ์ซึ่งกันและกันกับผู้ร่วมสัมมนาท่านอื่นๆ ลองกระตุ้นและท้าทายทางด้านความคิดร่วมกันกับเพื่อนๆ ทั้งเก่าและใหม่ในการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อร่วมสนทนากันในหัวข้อและเนื้อหาการบรรยายของวิทยากร ปรับและเปลี่ยนมุมมอง เพื่อรับสิ่งใหม่ ๆ และปรับเปลี่ยนมุมมองเก่าๆ เพื่อสิ่งที่สร้างสรรค์ ขอให้เราเปิดรับความคิดใหม่ ประสบการณ์ใหม่และทิศทางใหม่ ในการประชุมครั้งนี้ อ.ชัยณรงค์ เชื่อมั่นว่า ผู้ร่วมสัมมนาจะได้เรียนรู้ร่วมกันจากวิทยากรและผู้ร่วมสัมมนา ผู้เปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ในสาขาต่างๆ

ในที่สุด ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนช่วยในการประชุมครั้งนี้ ขอบคุณพระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์ พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่ คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม อุปสังฆราช ขอบคุณจังหวัดเชียงใหม่ TCEB และ MICE, สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย, และเป็นพิเศษสำหรับคระคุณครูและนักเรียนโรงเรียนพระหฤทัย โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และบ้านเณรใหญ่แสงธรรม และหวังว่าทุกท่านมีความสุขกับการประชุมครั้งนี้ และการต้อนรับของชาวเชียงใหม่

SIGNIS WORLD CONGRESS 2009

Welcome to SIGNIS WORLD CONGRESS 2009
October 17 - 21, 2009
Empress Convention Centre
Chiang Mai, Thailand