วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สารจากของพระอัครสังฆราช Claudio Maria Celli,

สารจากของพระอัครสังฆราช Claudio Maria Celli,

ประธานสมณสภาสื่อสารมวลชน แห่งสันตะสำนักถึงผู้เข้าร่วมประชุม

พระอัครสังฆราช Claudio Maria Celli, ประธานสมณสภาสื่อสารมวลชน แห่งสันตะสำนัก ส่งสารถึงผู้เข้าร่วมประชุมทางวีดีโอ ซึ่งถอดความได้ดังนี้

พระอัครสังฆราชเคลาดิโอ เชลลี ประธานสมณสภาสื่อสารมวลชนแห่งสันตะสำนัก กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านทางวิดีทัศน์ ความว่า “แนวคิดหลักของการประชุมในครั้งนี้เป็นหัวข้อที่ทันสมัยและมีความสำคัญยิ่ง นัยความสำคัญของหัวข้อการประชุมสามารถจำแนกออกเป็น 2 บริบทหลักคือ การปกป้อง และการส่งเสริมศักยภาพของเด็กๆ ซึ่งเป็นหลักการที่จำเป็นยิ่งในการสร้างประชากรที่ดีมีคุณภาพในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะคริสตชนต้องตระหนักให้ได้ว่า นี่คือภารกิจความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เด็กๆ คือสมาชิกมีค่าและสำคัญที่สุดของสังคม ดังนั้นเราคริสตชนจึงมีพันธกิจทางจริยธรรมในการเสริมสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า เด็กๆ ของเราจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากภยันตรายทั้งปวง ทั้งนี้สันติสุขของมวลมนุษยชาติย่อมผูกพัน และตั้งอยู่บนหลักการขั้นพื้นฐานแห่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการปกป้องผู้ที่อ่อนแอที่สุด

ในสารขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 โอกาสวันสันติภาพสากลในปีนี้ พระองค์ได้ทรงเน้นความสำคัญของการปกป้องสวัสดิภาพและสิทธิของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการเผชิญหน้ากับปัญหาความยากจนอันส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก พระองค์ทรงเขียนไว้ว่า เมื่อความยากจนยากไร้เข้าสู่ครอบครัว เด็กๆ จะกลายเป็นเหยื่อของความยากลำบาก กล่าวคือเด็กๆ นับเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีชิวิตอยู่ท่ามกลางความยากแค้นในโลกปัจจุบันและเมื่อครอบครัวในปัจจุบันอ่อนแอตกอยู่ในสภาวะยากแค้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กๆ จะเป็นผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ระทมนั้น และหากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของสตรีและผู้ที่มีบทบาทเป็นแม่ไม่ได้รับการปกป้อง นั่นหมายถึงว่าเด็กๆ จะตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงในที่สุดความจริงแท้ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติสุขนั้นย่อมขึ้นอยู่การต่อสู้และบรรเทาอุปสรรคแห่งความยากจนที่มีผลต่อการลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่มีผลกระทบส่วนมากต่อเด็กๆ ในสังคม

สิ่งที่ชัดเจนยิ่งในสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ นั่นคือเราในฐานะผู้สื่อสารคาทอลิกเราจะมีทีท่าและเผชิญหน้ากับปัญหานี้เช่นไร ดังนั้นในโอกาสนี้ข้าพเจ้าจะขอแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบถึงวัตถุประสงค์หลักของการประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกในครั้งนี้ว่า การประชุมมีเป้าหมายหลักดังนี้

(1) เพื่อสถาปนากระบวนการการปกป้องสิทธิของเด็กให้เป็นวาระสำคัญโดยสื่อ ผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติ

(2) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของนักสื่อสารคาทอลิกในการปฎิบัติพันธกิจ เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิเด็ก

(3) เพื่อร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติงานในด้านสิทธิเด็ก

(4) เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานร่วมกันในงานด้านสื่อสารและสิทธิเด็ก

และอาศัยการสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล เพื่อนร่วมวิชาชีพ และสื่อผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลายในระหว่างการประชุม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญโดยปราศจากข้อสงสัย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการทำงานในฐานะสื่อมวลชน และในสถานะสมาชิกขององค์กรสื่อสารคาทอลิกสากล

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ นั่นคือ การมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะงานด้านสื่อศึกษา เพื่อเสริมพลังในการผลักดันให้เด็กๆ สามารถมีวิจารณญาณในการใช้สื่อและในที่สุดคือการมุ่งเสริมสำนึกความรับผิดชอบในการเป็นผู้ผลิตสารที่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ในกระบวนการการเตรียมความพร้อมผู้นำของสังคมในอนาคตเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติสุข ต้องมุ่งเน้นความสำคัญในการปลูกฝังจริยธรรมตามหลักคริสตศาสนา ต้องมุ่งเสริมสร้างปรัชญาและคุณค่าของจิตใจให้เป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ไตร่ตรองและพิจารณาทบทวนถึงสาส์นขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 เนื่องในวันสื่อมวลชนสากล ค.ศ. 2007 ซึ่งมีแนวคิดหลักในปีนั้นว่า เด็กกับสื่อสารมวลชน สิ่งท้าทายสำหรับการศึกษาในสาส์นดังกล่าว องค์สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพิจารณาถึงการปลูกฝังเด็กๆ และวิธีการปฏิสัมพันธ์กับสื่อ

พระองค์ท่านได้บันทึกในสาส์นว่า สิ่งที่ท้าทายการศึกษาในปัจจุบันบ่อยครั้งที่ผูกพันและเป็นผลจากอิทธิพลและแรงจูงใจของสื่อ และเมื่อพิจารณาในปรากฎการณ์สากลในยุคโลกาภิวัตน์ และในโลกแห่งความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยี สื่อคือผู้กำหนดวัฒนธรรม และในบางครั้งเองมีผู้คนจำนวนหนึ่งกล่าวว่าในบางบริบทอิทธิพลของสื่อเองก็ส่งผลร้ายต่อสถาบันการศึกษา พระศาสนจักร และแม้กระทั่งสถาบันครอบครัวอีกด้วยจนบางครั้ง ความเป็นจริง (สำหรับคนหลายคน) คือสิ่งที่สื่อแจ้งให้ทราบว่าเป็นความจริง องค์สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงแนะว่าให้เราพิจารณาประเด็นปัญหาในสองมิติ กล่าวคือ การปลูกฝังเด็กๆ โดยสื่อมวลชน และการปลูกฝังเด็กๆ ให้ปฏิสัมพันธ์กับสื่อได้อย่างเหมาะสม การเสริมสร้างสิ่งนี้แน่นอนขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบทางสังคมของอุตสาหกรรมการผลิตสื่อ ผู้ผลิตสื่อ และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้รับสื่อ กรอบการเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งคือการฝึกอบรมวิธีการเลือกเปิดรับและใช้สื่ออย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กๆ ในด้านวัฒนธรรม จริยธรรมและคุณค่าทางด้านจิตวิญญาณของผู้รับสารซึ่งเป็นผู้เยาว์

และในท้ายที่สุดข้าพเจ้าขอขอบคุณผู้จัดงานและผู้ร่วมประชุมทุกท่านในการร่วมจัดกิจกรรมที่หลากหลายอันเกี่ยวข้องกับเด็ก เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากเขาและเรียนรู้จากเสียงสะท้อนและตัวตนของเขา เพราะพวกเด็กๆ เหล่านี้คือผู้ตอบรับการใช้สื่อสมัยใหม่เป็นกลุ่มแรก เป็นผู้ใช้ พัฒนา และปฏิสัมพันธ์นวัตกรรมสื่อใหม่ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้สอนผู้ใหญ่ถึงวิธีการใช้นวัตกรรมเหล่านี้เสียอีกด้วย ในขณะที่ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะคาดหวังว่าเด็กคือ อนาคต เราควรเพิ่มเติมมุมมองใหม่สำหรับเด็กด้วยว่า เขาคือผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้นำในโลกปัจจุบันอีกด้วย

สาส์นขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเนื่องในวันสื่อมวลชนสากลในปีนี้ พระองค์ทรงเรียกร้องและสนับสนุนให้บรรดาเยาวชนคาทอลิกเป็นประจักษ์พยานและผู้สื่อสารความเชื่อผ่านสื่อในโลกยุคใหม่ ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ท่านได้มีบทบาทในการเป็นผู้นำทางด้านคุณค่า การสร้างสรรค์จรรโลงชีวิต ในวัฒนธรรมและสภาวะสังคมในโลกยุคใหม่ โลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสาร ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำในการประกาศพระวาจาในโลกดิจิตอลนั้นเป็นหน้าที่ของเยาวชนเช่นท่านทั้งหลาย จงสร้างความเชื่อมั่นในการประกาศพระวรสารสู่เพื่อนผู้ร่วมสมัยของท่านด้วยจิตใจที่ร้อนรน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น