วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก SIGNIS WORLD CONGRESS 18 October 2009

สรุปเนื้อหาจากวิทยากรหลัก SIGNIS WORLD CONGRESS

วันที่ 18 ตุลาคม 2552

Keynote Speaker: Dr. Zilda Arns Neumann & Professor Jose De Mesa

“สิทธิมนุษยชน – สิทธิเด็ก”

โดย ดร.ซิลดา อาร์น นอยมานน์

ดร.ซิลดา เป็นผู้ก่อตั้งและประสานงาน Children’s Pastoral Action ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งบราซิล CPAได้มีส่วนช่วยเหลือเด็กๆจำนวนถึง 1,816,261 คน ในแหล่งชุมชนที่ยากไร้ทั่วบราซิล ซึ่งรวมถึงสตรีมีครรภ์จำนวนถึง 94,987 คน จาก 1,407,743 ครัวเรือน

ดร.ซิลดา ได้เริ่มการบรรยายโดยเน้นว่า พวกเราทุกคน ณ ที่นี้ ได้รับกระแสเรียกในการร่วมกันประกาศข่าวดีจากองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยหน้าที่ของเราต้องมีส่วนร่วมมือกันทำให้ข่าวดีเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยผ่านการกระทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในสังคม กระบวนการสร้างสันติเริ่มต้นขึ้นในจิตใจโดยอาศัยพื้นฐานแห่งความรัก ซึ่งจะเริ่มก่อตัวขึ้นและหยั่งรากฐานในครรภ์มารดาและเริ่มต้นพัฒนาขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย โดยที่การสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งย่อมก่อให้เกิดภราดรภาพในสังคมในที่สุด

และหากเราเริ่มต้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรตั้งแต่ในครรภ์มารดา นั่นหมายความว่าเด็กๆก็จะได้รับการดูแลอย่างดีและได้รับการปลูกเพาะเมล็ดพันธ์แห่งสันติและความหวังต่อไป เด็กๆคือความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์แบบ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ดั่งที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย” (มธ.18: 3) และ “แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเด็กเล็กๆเหล่านั้นเข้ามาตรัสว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆมาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เป็นเหมือนเด็กเล็กเหล่านี้”” (ลก.18: 16)

การเริ่มต้นของ CPA เกิดขึ้นเมื่อ 26 ปีที่แล้ว งานของ CPA นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่ใช้การสื่อสารภาคสังคมช่วยงานการพัฒนาสิทธิเด็กและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

งานของ CPA ได้รับการปลูกฝังเมล็ดพันธ์แห่งความรัก ณ เมือง Florestopolis ในรัฐ Parana ซึ่งโครงการของ CPA ได้ช่วยชุมชนยากจนถึง 42,000 ชุมชน ในเขตงานอภิบาล 7,000 แห่ง เครือข่ายการทำงานของ CPA ที่มีอยู่ทั่วบราซิลนั้นบุคลากรส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งมีจำนวนถึง 260,000 คน โดยที่ร้อย 92% เป็นสตรี เฉลี่ยแล้วอาสาสมัครแต่ละคนอุทิศเวลาประมาณ 24 ชม.ต่อสัปดาห์ ช่วยกันให้ความรู้กับแม่และสมาชิกในครอบครัวผู้ยากไร้ วัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาของโครงการ CPA คือ (1) มุ่งให้ความรู้แก่มารดาและสมาชิกในครอบครัวผู้ยากไร้ เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตของทารกและสภาวะการขาดสุขลักษณะ ความพิการและสภาวะการขาดสารอาหารในเด็ก (2) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแบบองค์รวมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปี

ดร.ซิลดาได้เน้นว่า ช่วงเยาว์วัยเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝังคุณค่าชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ การสร้างประชากรที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชีวิตต่อไป

การเริ่มงานในช่วงแรกของ CPA ดร.ซิลดา ทำงานด้วยความยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ซิลดาเชื่อมั่นและศรัทธาว่า สิ่งที่เธอทำ คือ แผนงานที่พระเป็นเจ้าได้ทรงเตรียมไว้ ดร.ซิลดา ทำงานในระบบสาธารณสุข มีประสบการณ์ทางการแพทย์และสุขอนามัยเป็นระยะเวลานาน สิ่งเหล่านี้เองจึงเป็นพื้นฐานช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ด้วยความร้อนรนและกระตือรือร้น ดร.ซิลดา ได้เริ่มต้นการทำงานโดยตั้งคำถามถึง “วิธีการที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กๆในประเทศได้อย่างไร?”

ปัญหาที่สำคัญของประชาชนในชุมชนผู้ยากไร้ คือ การขาดความรู้และความเข้าใจเรื่อง สุขอนามัย ปัญหาทางโภชนศาสตร์ การขาดความรู้ถึงการรับประทานอาหารให้มีประโยชน์ เพื่อบำรุงทารกในครรภ์ และปัญหาการขาดสารอาหาร เป็นต้น

ดร.ซิลดา ได้นำเรื่องการเลี้ยงอาหารแก่ประชาชนผู้เฝ้าฟังพระเยซูคริสต์เทศนาเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจในการทำงาน ดร.ซิลดา มักรำพึงกับตัวเองเสมอว่า “สาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กๆจำนวนนับล้านในแต่ละปีเกิดจากสาเหตุง่ายๆ และเป็นสิ่งที่น่าจะสามารถป้องกันได้” และ “เพราะอะไรเด็กๆจึงกลายเป็นบุคคลที่ก้าวร้าวรุนแรง หรือกลายเป็นอาชญากรในที่สุดเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น?

สภาพความแร้นแค้นและทุกข์ระทมของชุมชนยากจนในบราซิลนั้น สามารถเห็นเป็นภาพสะท้อนได้ในทุกๆวัน อาทิ การที่แม่หยุดการให้นมตามะรรมชาติ และใช้นมผงชงด้วยน้ำที่ไม่ค่อยสะอาดนัก ทารกไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้านสุขภาพอนามัยและโภชนาการ ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เด็กๆ ถูกทำร้ายทุบตีจากผู้เป็นพ่อแม่ และจากการวิจัยสำรวจขององค์กร WHO ในปี ค.ศ. 1994 พบว่า “เด็กๆ ที่เริ่มต้นถูกทำร้ายตั้งแต่ขวบปีแรกของชีวิต มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่ก้าวร้าวรุนแรง และก้าวสู่การเป็นอาชญากรในที่สุด”

ดร.ซิลดา ได้นำเสนอวิธีการที่ CPA ได้ทำตลอด 25 ปี และนำเสนอวิธีการนี้ต่อพระศาสนจักรท้องถิ่นเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวคือ วิธีการที่เธอประยุกต์จากวิธีการที่พระเยซูได้ทรงเลือกใช้ในการประกาศพระวรสารเมื่อ 2000 กว่าปีก่อน นั่นคือ (1) การรวบรวมและจัดระบบประชาชนในชุมชนต่างๆ (2) การหาข้อมูลและตรวจสอบจำนวนและรายชื่อครอบครัวที่มีสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก

สำหรับผู้นำชุมชนนั้น โครงการ CPA ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมในความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขอนามัย โภชนาการ สาธารณสุขเบื้องต้น และนอกจากนี้การอบรมจิตตาภิบาลก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการทำงานในโครงการดังกล่าวนี้ด้วย ดังนั้นผู้นำชุมชนจึงเป็นผู้ให้ความรู้และช่วยเผยแพร่จิตตารมณ์ทางด้านความรักและประสานงานกับครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวที่สำคัญ

ภายหลังจากการประยุกต์ใช้วิธีการตามแบบฉบับขององค์พระคริสตเจ้า ปัจจุบัน CPA ได้ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงประชาชน ใน 40,000 ชุมชน และเขตงานอภิบาลถึง 7,000 แห่ง จากสังฆมณฑลทั้งสิ้น 272 เขต โดยเป็นไปทีละเล็กละน้อย แนวทางการทำงานด้วยวิธีนี้ได้เผยแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ ถึง 19 ประเทศ

CPA ได้พัฒนายุทธศาสตร์ในการดำเนินงานการสื่อสารเพื่อพัฒนาชุมชน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) ระดับปัจเจกบุคคล (2) ระดับชุมชน และ (3) ระดับกลุ่มมวลชน CPA ใช้วิธีการสื่อสารให้ความรู้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเพื่อส่งข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อจูงใจ และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

ในภาคการสื่อสารระดับปัจเจกบุคคล CPA ได้ดำเนินการในกิจกรรมการเยี่ยมบ้านในชุมชนต่างๆ ที่มีสตรีมีครรภ์และเด็กๆ ตลอดพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำอเมซอน

ดร.ซิลดา ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติจัดทำโครงการ “ชีวิตที่ปราศจากความรุนแรง” CPA ได้กำหนดคำขวัญของโครงการว่า “สันติสุขเริ่มต้นที่บ้าน” โครงการได้ผลิตสื่อแผ่นพับเพื่อรณรงค์โครงการดังกล่าว แจกจ่ายไปถึงจำนวน 6,000,000 ชุด แผ่นพับดังกล่าวคือ “บัญญัติ 10 ประการเพื่อการสร้างสันติในครอบครัว” อีกทั้งยังมีกิจกรรมสัมมนาในโรงเรียนและชุมชนจากเหนือจรดใต้ของประเทศบราซิล

การให้การศึกษาและการสื่อสารในระดับกลุ่มชุมชน CPA ได้จัดกิจกรรมขึ้นในทุกๆ เดือน ให้กับชุมชนจำนวนนับพันแห่ง ชื่อโครงการคือ “วันเฉลิมฉลองคุณค่าของชีวิต” กิจกรรมในวันดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชีวิตฝ่ายจิตศรัทธาและมิตรภาพระหว่างครอบครัวในชุมชน การจัดงานประกอบด้วยกิจกรรมให้ความรู้แก่แม่และเด็กตลอดจนกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งเป็นโอกาสที่บรรดาแม่ๆ ได้ร่วมแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน อาทิ การประกอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในราคาย่อมเยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประชุมประจำเดือนเพื่อการติดตาม และประเมินผลการทำงานของบรรดาผู้นำชุมชนอีกด้วย

การทำงานของ CPA บรรลุความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในที่สุด CPA สามารถควบคุมสภาวะการขาดสมดุลของโภชนาการได้ จากอัตราสภาวะปัญหาทางโภชนาการที่เคยมีสูงถึงร้อยละ 50% ในช่วงเวลาเริ่มต้นโครงการ อัตราดังกล่าวลดลงมาสู่ร้อยละ 3.1% ในปัจจุบัน และอัตราการเสียชีวิตของทารกลดน้อยลงอย่างมาก ลดเหลือเพียงอัตราส่วน 13:1,000 ในเขตพื้นที่ชุมชนที่ CPA ได้นำโครงการช่วยเหลือไปปฏิบัติการ ในปัจจุบันโครงการของ CPA ได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงสาธารณสุข บราซิล, UNICEF, ธนาคาร HSBC และองค์กรภาคธุรกิจอื่นๆ โครงการจึงสามารถทำโครงการการฝึกอบรมสุขอนามัย โภชนาการ การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพประชากรได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ดร.ซิลดาได้บูรณาการการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อพัฒนาสิทธิเด็กดังต่อไปนี้

1. การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ แผ่นพับ โปสเตอร์ ฯลฯ

2. การใช้สื่อวิทยุ อาทิ การจัดรายการเพื่อให้ความรู้

3. โครงการรณรงค์ในหัวข้อต่างๆ และการใช้สื่อวีดีทัศน์ในโครงการ

ดร.ซิลดาได้นำเสนอแนวคิด ในการนำแนวคิดการพัฒนาคุณค่าทางด้านจิตใจเข้าสู่ทุกในทุกมิติใน กระบวนการของการพัฒนา การพัฒนาชุมชน สังคม และประชากร กล่าวคือ การพัฒนาแบบบูรณาการนั้นต้องประกอบด้วย “การพัฒนาทางกาย สุขภาพ การพัฒนาทางสังคม การพัฒนาจากจิต การพัฒนาทางจิตวิญญาณ”

ดร.ซิลดา เชื่อมั่นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับการแสวงหาวิธีการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของสังคม การกำจัดการคอรัปชั่น การส่งเสริมความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม อัตราการเข้าถึงของประชากรในระบบบริการสาธารณสุข และคุณภาพของระบบการศึกษา การส่งเสริมให้มีการประสานงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศต่างๆ และการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม

ดังที่ได้บัญญัติไว้ในพระสมณสาส์น “CARITAS IN VERITATE” ขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 “ธรรมชาติและสรรพสิ่งสร้างคือของขวัญล้ำค่าจากพระเจ้า จงใช้ด้วยความรับผิดชอบ โลกได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยสัญญาณของภาวะโลกร้อน เรากำลังได้รับการตักเตือนจากภัยธรรมชาติที่ทวีจำนวนและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจระดับโลก แสดงให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เรียกร้องภราดรภาพจากนานาชาติ ความเป็นพี่น้อง เพื่อสรรสร้างความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขของสากลโลก

“เทววิทยาแห่งการสื่อสาร”

โดย ศาสตราจารย์ โฮเซ่ เดอ เมซ่า

ศาสตราจารย์ โฮเซ่ เดอ เมซ่า ได้เปิดประเด็นการบรรยายในหัวข้อ “เทววิทยาแห่งการสื่อสาร” โดยสรุปประวัติศาสตร์ในช่วงการเริ่มต้นปฏิรูปกิจการในบริบทต่างๆของพระศาสนจักรคาทอลิกระหว่างปี ค.ศ.1962 – 1965 ซึ่งได้มีการจัดสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ศาสตราจารย์ โฮเซ่ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ กิจการการสื่อสารของพระศาสนจักรนั้น “มีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างพระศาสนจักรกับอาณาจักร (โลก)”

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 12 พระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ได้รับการสถาปนาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งสันตบิดร พระองค์เองเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแต่งตั้ง Ecumenical Council ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นสมณกระทรวงในที่สุด

พระสมณสาส์นที่สำคัญที่ ศาสตราจารย์ โฮเซ่ แนะนำให้ศึกษาซึ่งครอบคลุมแกนหลักของเทววิทยาและปรัชญาทางด้านการสื่อสารของพระศาสนจักร มีดังต่อไปนี้ คือ (1) Gaudium et Spes, (2) Lumen Gentium, (3) Sacrosanctum Concilium, (4) Dei Verbum

จากสภาพการณ์ที่ศาสตราจารย์ โฮเซ่ ระบุว่า “มีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างพระศาสนจักรกับอาณาจักร(โลก)” พระศาสนจักรจึงมีความจำเป็นในการอ่านและตีความสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาให้ละเอียดและถูกต้องเพื่อที่จะแสวงหาหนทาง วิธีการประกาศพระวาจาขององค์พระคริสตเจ้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อที่จะแสวงหาหนทางที่พระศาสนจักรและอาณาจักรสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้อีกครั้ง

คำศัพท์หลัก 2 คำที่สำคัญ คำหนึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน อีกคำหนึ่งเป็นภาษาลาตินที่สามารถอธิบายแนวคิดปรัชญาหลักของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 นั่นคือ Aggiornamento การต่ออายุหรือการปรับสู่สิ่งใหม่ กับคำว่า Ad Fontes คือ การกลับไปสู่แหล่งกำเนิดหรือพื้นฐานของทั้งหมด

การปรับปรุงสู่สิ่งใหม่ของมิติทางด้านการสื่อสารนั้นจะช่วยให้พระศาสนจักร สามารถสื่อสารประกาศพระวาจาของพระคริสตเจ้าได้มีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้พระศาสนจักรสามารถปรับตัวให้ทันสมัย สามารถตอบและสื่อต่อประเด็นคำถามต่างๆในสังคมปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที

การกลับไปสู่แหล่งกำเนิดหรือแก่นกลางของทั้งหมด จะช่วยทำให้พระศาสนจักรสามารถสื่อสารข่าวสารออกไปได้อย่างมั่นคงตามเจตนารมณ์ของพระวรสาร ศาสตราจารย์ โฮเซ่ นำเสนอว่า พระศาสนจักรควรมีการทบทวนและตรวจสอบในลักษณะทบทวนกลับไปมา ถึงต้นตอแหล่งความเชื่อ(หัวใจหลัก)ในพระวรสารอยู่เสมอ กระบวนทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือน กีฬาปิงปองที่มีการเปลี่ยนถ่ายกลับไปกลับมาเสมอ หรือที่ ศาสตราจารย์ โฮเซ่ นิยามว่า “ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยการกลับมาทบทวนถึงจุดกำเนิดหรือหัวใจอยู่เสมอ” (“Moving Forward” by Moving Back”)

พระสมณสาส์นที่สำคัญที่ศาสตราจารย์ โฮเซ่ อ้างอิงถึง คือพระสมณสาส์น Dei Verbum ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับกิจการด้านสื่อสารของพระศาสนจักร เฉกเช่นพระสมณสาส์น Inter Mirifica (เครื่องมือแห่งสื่อสารมวลชน) แต่พระสมณสาส์น Dei Verbum ได้ฉายภาพถึงแก่นกลางทางด้านเทววิทยาแห่งการสื่อสารเอาไว้

ใน Dei Verbum ได้สะท้อนเทววิทยาแห่งการสื่อสารไว้กล่าวโดยสรุปคือ พระเยซูคริสตเจ้าคือศูนย์กลาง พระวาจาของพระคริสต์คือเนื้อหาใจความหลักของการสื่อสารของพระศาสนจักร พระวาจาของพระองค์ คือแรงบันดาลใจและแบบฉบับของกิจการสื่อสารของพระศาสนจักร

พระเป็นเจ้าได้สื่อตัวพระองคืเองผ่านองค์พระคริสต์ ในบริบทดังนี้ (1) พื้นฐานความเชื่อและความรัก อ้าง “จงมีความรักเถิดเพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยน. 4:19), (2) แรงบันดาลใจและพลังผลักดันกิจการของพระศาสนจักร “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน. 3:16) , (3) แบบฉบับวิถีการปฏิบัติ “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลายให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน. 13:34 )

ศาสตราจารย์ โฮเซ่ เน้นว่า “องค์พระคริสตเจ้า คือ ศูนย์กลางที่สำคัญของคริสตศาสนา หากไร้ซึ่งองค์พระเยซูย่อมไม่มีคริสตศาสนา” สิ่งที่พระคริสต์ตรัสคือ สิ่งที่พระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะสื่อสารกับมนุษย์

ในสถานะผู้สื่อสารความเชื่อเราควรพิจารณาต่อประเด็นทางเทววิทยา ดังต่อไปนี้

(1) อะไรเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าต้องการสื่อสารถึงเรา

(2) วัตถุประสงค์เป้าหมายที่พระองค์ต้องการสื่อสารกับมนุษย์

(3) มิติด้านเวลาที่พระองค์สื่อสาร

(4) มิติด้านสถานที่/ช่องทางที่พระองค์สื่อสาร

(5) วิธีการที่พระองค์เลือกสรรที่จะสื่อสารกับมนุษยชาติ

พระวาจาที่สื่อผ่านองค์พระคริสตเจ้าบ่งบอกชัดเจนถึงความสัมพันธ์ในมิติแห่งการสื่อสารระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษยชาติ

คำตอบของคำถามเบื้องต้นสามารถจำแนกออกเป็นข้อดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ (1) สิ่งที่พระเป็นเจ้าต้องการสื่อสารกับเรา คือ “ชีวิตและความรัก” “เกี่ยวกับพระองค์”

ประเด็นที่ (2) เป้าหมายหลักคือ การสื่อถึง “ความรักที่ปราศจากเงื่อนไข” และ “พันธกิจศักดิ์สิทธิ์” ที่เกี่ยวข้องกับมวลมนุษยชาติ

ประเด็นที่(3) พระองค์สื่อสารกับมนุษย์อยู่ตลอดเวลา

ประเด็นที่(4) ช่องทางที่พระองค์สื่อสาร คือ ผ่านทางประวัติศาสตร์และผ่านทางประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนในทุกๆวัน

ประเด็นที่(5) วิธีการที่พระองค์เลือกสรรในการสื่อสารคือ ผ่านหนทางแห่งวิถีชีวิตและความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น